บันทึกการเดินทาง > เที่ยวกาญจนบุรี - ปราสาทเมืองสิงห์
หลังจากได้เก็บภาพสวยๆ ชมความยิ่งใหญ่และสูดอากาศดีๆ รอบบริเวณต้นจามจุรียักษ์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ได้เวลาออกเดินทางไปต่อยังจุดหมายต่อไป
อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์
ขับรถออกจากกรมการสัตว์ทหารบกทางประตูหน้า แล้วใช้ถนนหมายเลข 3209, 3228 และ 3455 ตามลำดับ
คำนวนระยะทางจาก GPS ประมาณ 46 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 40 นาที
พิกัด GPS อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ @14.0389543,99.2144249
แผนที่เส้นทางการเดินทางจาก ต้นจามจุรียักษ์ ไปยัง อุทยานปรัติศาสตร์เมืองสิงห์
เวลาบ่ายโมงครึ่ง ก็มาถึง ปราสาทเมืองสิงห์ ตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค
ที่ประตูทางเข้า จะมีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการ ต้องจอดรถเพื่อจ่ายค่าธรรมเนียมเข้าชมอุทยานฯ
สำหรับค่าเข้าชมอุทยานในวันปกตินั้น
นักท่องเที่ยวชาวไทย 20 บาท ต่างชาติ 40 บาท
และรถยนต์ คันละ 50 บาท ครับ
ผ่านประตูเมืองเข้ามา ขับตามป้ายบอกทาง แบบวนทางเดียว เพื่อไปยังที่จอดรถครับ
ปราสาทเมืองสิงห์ ตั้งอยู่ที่ตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค เดิมที่นี่เคยมีฐานะเป็นเมืองครับ มีเจ้าเมืองปกครอง
แต่ภายหลังได้ถูกลดฐานะลงกลายเป็น ตำบลสิงห์ในปัจจุบัน
จากที่จอดรถ เดินเท้าเข้ามายังจุดแรก จะเจอกับป้าย QR โค้ดแนะนำเรื่องราวของปราสาทเมืองสิงห์
สามารถเลือกรับฟังได้หลายภาษา แต่ไม่มีภาษาดัตช์ให้ผมเลย เศร้าใจ
เดินเลี้ยวขวามาจากป้าย จะพบกับฐานของปราสาท ที่ตัวปราสาทได้พังลงแล้ว เหลือเพียงฐานไว้ให้ดูต่างหน้า
ปราสาทจุดนี้คือปราสาทแห่งที่ 2 เดี๋ยวเราลองไปดูปราสาทแห่งที่ 1 กันครับ
ตัวปราสาทหลัก หรือปราสาทแห่งที่ 1ครับ ใช้หินศิลาแลงในการก่อสร้างวางเรียงซ้อนกัน
และมีช่องประตูที่มองทะลุถึงกันหมด
ซึ่งหากมองจากประตูทางเข้าเมือง ก็จะอยู่ตรงกันกับประตูของปราสาท ตามแบบฉบับสถาปัตยกรรมแบบขอม
ปราสาทเมืองสิงห์เป็นโบราณสถานที่มีสถาปัตยกรรมและมีประติมากรรมแบบขอม ถูกขุดพบ
และบูรณะตกแต่งใหม่ โดยกรมศิลปากร และแล้วเสร็จใน พ.ศ.2530
ขอถ่ายรูปสาวๆ เอ้ย!! รูปปราสาทเอาไว้ไปอวดเพื่อนๆ
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และจารึกของประเทศกัมพูชา มีการจารึกชื่อเมืองไว้หลายเมือง
หนึ่งในนั้นคือเมืองศรีชัยสิงห์บุรี ซึ่งสันนิฐานว่าเป็นปราสาทเมืองสิงห์ในปัจจุบัน
ได้เวลาเดินสำรวจด้านในแล้ว ตามมาๆ
ปราสาทเมืองสิงห์ ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจและทรงคุณค่า
และเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาประวัติศาสตร์ อารยธรรมในอดีต ผ่านสิ่งปลูกสร้างแห่งนี้
เคยสงสัยว่าทำไมปราสาทขอม จึงไม่มีประตู อาจจะเป็นเพราะว่าการสร้างประตูด้วยหิน จะไม่สะดวกตอนเปิด-ปิด
เลยปล่อยว่างไว้ แล้วทหารยามมายืนเฝ้า (มั๊ง)
เมื่อมองจากประตูด้านข้าง สามาถมองทะลุไปถึงเทวรูป เช่นเดียวกับที่มองผ่านมาทางประตูด้านหน้า
เดินเข้ามาถายใน จะพบรูปปั้นพระนางปรัชญาปารมิตา เป็นองค์เทพีแห่งปัญญา
เทวนารีผู้ฉลาดเฉลียวในพุทธศาสนามหายาน
ถัดมาอีกนิดเป็นรูปปั้น.. อะไรไม่รู้ ลืมดูป้าย ที่เอวผูกด้วยผ้าหลากสี คอถูกคล้องด้วยพวงมาลัย
เอาเป็นว่า ขอผ่านครับ
โบราณสถานในปราสาทเมืองสิงห์ แบ่งออกเป็น 4 แห่ง ซึ่งแห่งแรกคือตัวปราสาทหลักที่เรายืนอยู่
แห่งที่ 2 เป็นบริเวณฐานปราสาทที่พังลง
และได้กล่าวไว้ในตอนต้น
ส่วนอีก 2 แห่งที่เหลืออยู่ห่างออกไปจากตัวปราสาทหลัก และอยู่นอกเขตกำแพงซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างขนาดเล็ก
ด้วยเวลาที่จำกัด เราจึงไม่ได้ออกไปเก็บภาพมาให้เพื่อนๆ ได้ชมกัน
สำหรับอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์แห่งนี้ นอกจากจะเปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแล้ว
ยังมีบริการบ้านพักรับรองสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการพักค้างคืน
โดยมีบ้านพักริมน้ำ บรรยากาศสุดคลาสสิคให้บริการคืนละ 300-600 บาท
ในรายละเอียดนั้น สามารถสอบถามจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวได้เลยครับ
สำหรับบันทึกการเดินทางตอน ปราสาทเมืองสิงห์
คงต้องจบไว้เพียงเท่านี้ ตอนนี้ได้เวลาล้อหมุน ออกเดินทางต่อไปยังปลายทางสุดท้ายของเราในวันนี้
สะพานมอญ สังขละบุรี
ออกจากปราสาทเมืองสิงห์ ห้ามเลี้ยวขวากลับบ้านเก่านะครับ ให้ไปทางซ้าย มุ่งหน้าต่อไปยัง
สะพานมอญ สังขละบุรี ..อ่านต่อ